เรียนรู้คุณสมบัติและวิธีการใช้ภาชนะอย่างถูกวิธี
ฟิล์ม ฟอยล์ โฟม เป็นบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารที่ใกล้ชิดกับชีวิตเราค่อนข้างมาก มีประโยชน์ในแง่การรักษาคุณภาพของอาหารทั้งก่อนและหลังการปรุงให้ปลอดภัยจากปัจจัยหรือสภาพแวดล้อมที่จะทำให้คุณภาพของอาหารลดลง นอกจากนี้ยังเพิ่มความสะดวกสบายในการจัดเก็บและเอื้ออำนวยในการจัดผลิตภัณฑ์ให้ดูสวยงามอีกด้วย
อย่างไรก็ตาม สิ่งใดที่มากด้วยประโยชน์ก็มักจะมีจุดบอดที่ควรต้องระมัดระวัง เนื่องจากบรรจุภัณฑ์ทั้ง 3 ประเภทนี้ทำขึ้น จากวัสดุสังเคราะห์ จึงมีความเป็นไปได้ที่สารเคมีจะเข้าไปปนเปื้อนกับผลิตภัณฑ์อาหาร โดยสาเหตุอาจเกิดจากขั้นตอน ของผู้ผลิต ซึ่งผลิตสินค้าไม่ได้มาตรฐาน มาจนถึงผู้บริโภคซึ่งนำไปใช้ผิดประเภท
ในแง่ของผู้ผลิตคงต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของหน่วยงาน กรม กอง ที่เกี่ยวข้องดูแลรับผิดชอบกันไป ส่วนเราผู้บริโภคนั้น แม้จะมีหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้น เพื่อคุ้มครองพวกเรา แต่ในท้ายที่สุด “อัตตาหิ อัตตาโน นาโถ” ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน อารัมภบทมานาน มาเริ่มเรื่องที่เราจะพูดคุยกันในวันนี้เลยดีกว่า
ฟิล์มยืด (Stretch Film)
ฟิล์มยืดเป็นฟิล์มพลาสติกที่นิยมใช้มากในการห่ออาหาร โดยชนิดของพลาสติกที่นำมาผลิตจะแตกต่างกันไปในแต่ละยี่ห้อ ทำให้ฟิล์มยืดมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันไปด้วย เช่น ถ้าเป็นฟิล์มยืด PVC จะมีคุณสมบัติที่ยอมให้ไอน้ำและออกซิเจนผ่านได้ จึงเหมาะกับการบรรจุอาหารสดจำพวกเนื้อสัตว์และปลาเพื่อเก็บรักษาความสดของ อาหารไว้ ส่วนฟิล์มยืด PE มีคุณสมบัติไอน้ำซึมผ่านได้น้อย แต่ก๊าซซึมผ่านได้ดี หรือถ้าเป็นฟิล์มยืด PVDC ก็จะมีคุณสมบัติที่ให้ทั้งก๊าซและไอน้ำซึมผ่านได้ดี และทนอุณหภูมิสูงได้ เป็นต้น
สิ่งที่น่าเป็นกังวล สำหรับการใช้ฟิล์มยืดก็คือ สารเคมีที่อาจหลุดออกมาปนเปื้อนกับอาหาร โดยเฉพาะสารพวกพลาสติไซเซอร์ (Plasticizer) ที่ผสมเข้าไปในกระบวนการผลิตเพื่อทำให้พลาสติกอ่อนตัว ซึ่งสารบางตัวอาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้บริโภคเมื่อสะสมอยู่ในร่างกายถึง ปริมาณหนึ่ง สารเหล่านี้จะหลุดออกมาในปริมาณมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับปริมาณความร้อนที่ได้ รับ รวมถึงปริมาณไขมันในอาหารที่มีอยู่ ยิ่งร้อนมากหรือยิ่งมีไขมันมาก ก็ยิ่งจะละลายออกมาได้มาก
ในหลายประเทศทั้ง สหรัฐอเมริกาและประเทศในประชาคมยุโรปได้มีการออกกฎหมายควบคุมชนิดและปริมาณ สารที่ถ่ายเทจากพลาสติกออกมาปนเปื้อนในอาหารเช่น มาตรฐานของ EU กำหนดค่าปริมาณการถ่ายเทสาร (Global Migration) ของพลาสติกที่สัมผัสกับอาหารไว้ที่ 10 mg/dm2 เป็นต้น
แม้จะฟังดูแล้วยากยิ่งนักสำหรับผู้บริโภคที่จะรู้ว่าสารเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ในอาหารมากหรือน้อย แต่เราก็พอจะมีวิธีการป้องกันตัวง่ายๆ
ใช้ฟิล์มยืดให้ปลอดภัย
- ห้ามใช้ห่ออาหารเพื่อนำเข้าเตาอบ เนื่องจากความร้อนจะละลายสารเคมีจากพลาสติกออกมาปนเปื้อนกับอาหาร
- ถ้าจะห่ออาหารเพื่อนำไปอุ่น ละลายน้ำแข็ง หรือทำให้สุกในเตาไมโครเวฟ ต้องเลือกใช้ฟิล์มชนิดที่ใช้กับเตาไมโครเวฟเท่านั้น
- ถ้าจะห่ออาหารประเภทไขมัน ให้ใช้ฟิล์มยืดชนิดที่ใช้กับไขมันได้เท่านั้น
- ไม่นำฟิล์มยืดที่ใช้แล้วกลับมาใช้ซ้ำ เนื่องจากพลาสติกมีการเสื่อมสภาพไปทำให้สารเคมีหลุดออกมาได้มากขึ้นด้วย
- ไม่ซื้ออาหารจำพวกเนยแข็งหรืออาหารที่มีไขมันซึ่งห่อด้วยฟิล์มยืดเพราะสารเคมีในพลาสติกแบบนี้สามารถละลายได้ในไขมัน
CR. jobsdb